ธ ทรงเป็นปิ่นนารี ศรีเซนต์ฟรังฯ

โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์

       ตั้งอยู่เลขที่ 92 ซอยมิตตคาม ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 5 ไร่ 59 ตารางวา  โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2468 (1925) เป็นโรงเรียนแห่งแรกที่สอนภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ในตำบลบ้านญวน สามเสน จังหวัดพระนคร ได้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ในปีพุทธศักราช 2483 (1940)
         เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ขยายลุกลามเข้ามาถึงประเทศไทย  หม่อมเจ้านักขัตรมงคล  กิติยากรได้ตัดสินพระทัยย้ายหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ และหม่อมราชวงศ์หญิงบุษบา กิติยากร จากโรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ให้มาศึกษาในชั้นประถมปีที่ 2  และชั้นมูล (อนุบาล) ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2483 (1940)  ด้วยเหตุผลที่ทรงแจ้งไว้ว่า ทรงย้ายจากโรงเรียนราชินีมาเซนต์ฟรังฯ เพราะ ไกลบ้าน “ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กำลังศึกษาชั้นประถมปีที่ 1 โรงเรียนราชินี การคมนาคมไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย จึงต้องย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ซึ่งอยู่ใกล้วัง” (ข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ เป็น อยู่ คือ)  หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  กิติยากร ได้รับหมายเลขประจำตัว “371”
หม่อมราชวงศ์หญิงบุษบา กิติยากร
หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร และ หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์

นักเรียนเซนต์ฟรังฯ คนใหม่

            วันที่ 23 พฤษภาคม 2483 นั้น เป็นวันที่โรงเรียนได้เปิดเรียนไปหลายวันแล้ว  ซิสเตอร์ได้นำนักเรียนคนใหม่ คือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์   กิติยากร เข้ามาในห้องเรียนที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชั้นเรียน คือประถมปีที่ 1 และประถมปีที่ 2  เรียนรวมอยู่ในห้องเดียวกัน  โดยมีครูสมใจ (เจนผาสุก) ชมไพศาลเป็นครูประจำชั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แต่งเครื่องแบบนักเรียนที่ดูงดงามกว่าคนอื่น ด้วยกระโปรงแพรสีแดงจีบเป็นพลีตใหญ่ๆ รอบตัว สวมเสื้อแบบนักเรียนคอนแวนต์สีขาวสะอาด  แขนยาวจรดข้อมือ ปักอักษรย่อ ร.ซ.ฟ. ที่หน้าอกเบื้องซ้าย  ผูกเนกไทสีแดง  ไว้ผมยาวแสกกลาง  ถักเป็นเปียสองข้าง แล้วทบปลายขึ้น ผูกด้วยโบใหญ่สีแดงที่ข้างหู ใบหน้าเรียวยาว  ผิวพรรณผ่องใส  ดวงตาสวยงามมีแววฉลาดและร่าเริง หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ เป็นเด็กกล้า พูดจาฉะฉาน จึงผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ได้ง่าย  ทำให้ไม่ยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับที่เรียนใหม่

ชีวิตนักเรียนคอนแวนต์

      ตามธรรมเนียมของโรงเรียนคอนแวนต์ จะให้นักเรียนพักรับประทานอาหารว่างตอน 10 โมง ทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนชั้นเด็กเล็ก  และประถมออกมารับประทานอาหารว่างที่แต่ละคนเตรียมมา หรือซื้อจากทางโรงเรียนที่จัดไว้ขาย โดยจัดให้นั่งม้ายาวรับประทานกันที่บริเวณหน้าห้องเรียน หรือบันไดห้องเรียน  เมื่อระฆังดังขึ้น เด็กๆ ก็วิ่งออกมาจากห้อง
           ม.ร.ว. บุษบา ซึ่งเป็นเด็กร่างท้วม หน้าตาน่ารัก ตัดผมสั้นแค่หู แสกข้างรวบผมข้างหนึ่งเป็นกำ ผูกโบแดง เรียนอยู่ชั้นมูล (อนุบาล) วิ่งเข้ามาหาพี่สาว  สองพี่น้องก็พากันไปหาที่นั่งและนำกล่องอาหารว่าง ซึ่งเป็นขนมปังหวานชนิดต่างๆ มาเปิดออกรับประทานกันและพูดคุยกันน่ารัก
q06
q04
ส่วนเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน ทางโรงเรียนได้จัดให้นักเรียนที่นำอาหารมารับประทานเอง รับประทานรวมกันในห้องอาหาร ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีโต๊ะยาวสามตัว โต๊ะตัวหนึ่งสำหรับพวกครูอาจารย์ ส่วนที่เหลือเป็นของนักเรียน ในตอนกลางวันมีหญิงอายุราวกลางคนแต่งกายเรียบร้อยหิ้วปิ่นโตเถาใหญ่มาให้ ม.ร.ว. สิริกิติ์ กับ ม.ร.ว. บุษบา ทุกวัน ซึ่งบางครั้งท่านก็ได้แบ่งขนมให้เพื่อนๆ ทานด้วย ท่านจึงไม่ได้รับประทานอาหารของทางโรงเรียนเลย บางเวลาท่านก็ทานก๋วยเตี๋ยว เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูเจ้า “หลุยส์ ธุระวณิชย์ ” คนขายชื่อเจ๊กฮะ  แห้งชามละสามสตางค์  น้ำห้าสตางค์ 
นอกจากเวลามีการทำอาหารในวิชาการเรือนจึงจะร่วมทำและรับประทานด้วย พอรับประทานเสร็จก็แยกย้ายกันไปเล่น  ม.ร.ว.สิริกิติ์จะร่วมเล่นกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน กีฬาที่โปรดปรานคือ วิ่งเปี้ยว โดยจะรับเป็นหัวหน้าทีมเพราะท่านวิ่งเร็วมาก หรือกระโดดเชือก บางครั้งก็จะพักผ่อนอยู่ใต้ต้นสน เล่นซนกัน ผลักกันไปมา ท่านจะมีอารมณ์ขันสนุกสนาน แต่ไม่ว่าจะเล่นซนอย่างใด เครื่องแต่งกายและเนื้อตัวยังคงดูเรียบร้อย สะอาด ไม่มอมแมม ความซนอย่างเด็กอีกเรื่องหนึ่งของท่าน คือ ในช่วงบ่ายที่เรียนภาษาไทยจะแอบทานมะยมที่เพื่อนส่งเวียนกันทั้งห้องเพื่อแก้ง่วง แต่ ม.ร.ว.สิริกิติ์นั้นเป็นเด็กที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อยทั้งการพูดจา  การเข้าหาครูอาจารย์  ไม่มีกระโดกกระเดกเพราะได้รับการฝึกมาแบบเจ้านายจริงๆ 
               ในชั้นประถมปีที่ 3  ม.ร.ว.สิริกิติ์มักจะแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนๆ ที่ไม่เข้าใจในวิชาเรียนด้วยการอธิบายบทเรียนนั้นให้ฟังอย่างเด็กๆ ง่ายๆ ด้วยความเต็มใจ  นอกจากจะเอื้อเฟื้อและมีน้ำใจดีงามต่อเพื่อนฝูงเด็กๆ ด้วยกันแล้ว  ม.ร.ว.สิริกิติ์ยังเป็นเด็กช่างพูด  ช่างเล่น   บุคลิกคล่องแคล่ว เชื่อมั่นในตัวเอง ทำให้โดดเด่นกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน และช่วงนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้เปลี่ยนทรงผมจากถักเปียทบปลายสองข้างแล้วผูกโบ ปล่อยให้เปียสองข้างห้อยลงมาระสองข้างแก้ม เป็นการนำเปียยาวสองข้างมาพันทบกันไว้รอบศีรษะด้านหลังแล้วผูกโบสองข้างหูทำให้ดูแปลกตาและสวยงามกว่าเดิมมาก
q09
q08
           การสอบไล่ชั้นประถมปีที่ 3  ผ่านไปด้วยดี จนได้เลื่อนชั้นไปประถมปีที่ 4 ซึ่งมีครูสมใจ (เจนผาสุก)ชมไพศาล  เป็นครูประจำชั้นในชั้นประถมปีที่ 4 นี้ ม.ร.ว.สิริกิติ์  ได้แสดงออกถึงความสามารถในด้านวาดเขียน ขับร้อง ซึ่งนอกจากเสียงร้องเพลงอันไพเราะแล้ว ยังมีความสามารถในการตีฉิ่งให้จังหวะอย่างไม่ผิดพลาดเลยหลังการสอบไล่ประถมปีที่ 4 แล้วในการเรียนชั้นต่อไปในยุคนั้นคือมัธยมปีที่ 1 (ประถม 5) ซึ่งมีคุณครูรัตนา  พันธุมจินดา เป็นครูประจำชั้น มีนักเรียน 30 กว่าคน ผลการเรียนของ ม.ร.ว. สิริกิติ์ ได้ถูกเขียนบันทึกไว้ว่า “ผลการเรียนอยู่ในระดับดี  กิริยามารยาทเรียบร้อยดีมาก” ครูรัตนาเล่าว่า “เวลาที่ครูสอนจะเขียนบนกระดานดำ  ม.ร.ว.สิริกิติ์ เป็นนักเรียนคนเดียวที่เป็นผู้หาน้ำมาให้ครูล้างมือ”ตอนนั้นโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ยังไม่ได้รับรองวิทยฐานะ จึงต้องไปสอบที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ โดยเดินทะลุตรอกไปสอบ  ตอนสอบ ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้นำร้องเพลง โฮม สวีท โฮม พร้อมทั้งเล่นเปียโนประกอบความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งคือ ม.ร.ว.สิริกิติ์ และม.ร.ว.บุษบาได้เรียนเปียโนกับซิสเตอร์ เรอเน เดอ เยซู และซิสเตอร์ฟรังซีสกา ทุกวันตอนเย็นหลังเลิกเรียนจนถึงเวลา 17.00 น.  เปียโนหลังใหญ่นี้ตั้งอยู่ในห้องประถมปีที่ 3
ซิสเตอร์เรอเน และซิสเตอร์ฟรังซิสกา  ซึ่งเป็นครูถวายการสอนได้ออกปากชมอย่างจริงใจว่า ม.ร.ว.สิริกิติ์ มีวิญญาณศิลปินติดตัวมาแต่กำเนิด สามารถอ่านโน้ตและร้องเพลงได้ถูกต้องตามจังหวะอย่างน่าอัศจรรย์ใจ และยังเล่นเปียโนได้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งกว่าเด็กทุกคนในวัยเดียวกัน  ด้วยเหตุนี้ ม.ร.ว.สิริกิติ์  จึงเป็นศิษย์ที่น่ารัก น่าเอ็นดูของครูผู้ฝึกสอนอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นที่ร่ำลือกันในโรงเรียนอีกด้วย
           การเล่าเรียนในโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ตลอดระยะเวลา 6 ปี ซิสเตอร์ เรอเนและซิสเตอร์ ฟรังซีสกา ได้พยายามฝึกสอนวิชาดนตรีอย่างใกล้ชิด แม้พระปรีชาสามารถจะไม่ถึงขั้นอาชีพหรือขั้นนักดนตรีเอกของโลกในด้านเปียโนก็ตาม แต่ฝีมือก็ถือเป็นเลิศ ยากนักที่เด็กหญิงที่มีอายุเพียง 13 ปี จะสามารถกระทำได้ นอกจากนี้ท่านยังมีพรสวรรค์อีกประการหนึ่งคือ มีความทรงจำเป็นเยี่ยม

การเดินทางไปโรงเรียน

      “การเดินทางไปโรงเรียนในครั้งนั้นเป็นการเดินไปบ้าง นั่งรถรางไปบ้างจากเทเวศร์ โดยมีพี่เลี้ยงคนที่นำปิ่นโตมาส่งตอนกลางวันเป็นคนหิ้วกระเป๋าเรียนตามมาส่งและเดินผ่านตรอกสั้นๆ ซึ่งสองข้างทางเป็นบ้านไม้เก่าๆ และส่วนใหญ่เลี้ยงหมูอยู่ใต้ถุน มีกลิ่นไม่ชวนดมไปจนสุดตรอกทางด้านซ้ายมือถึงเป็นประตูโรงเรียน”  ขณะนั้นน้ำมันรถขาดแคลนมาก ครั้งแรกที่นั่งรถราง ม.ร.ว. สิริกิติ์ มักอาย หลังจากท่านพ่อสอนว่าความจนหรือความจำเป็นในสิ่งสุจริต ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย ความทุจริต การกระทำที่เป็นสิ่งไม่ชอบไม่ควร นั่นคือสิ่งที่ควรอาย
q12
q11
          เมื่อเข้าใจด้วยเหตุผลที่ท่านพ่อสอนแล้วก็เลยเกิดสนุก วันไหนมีทหารญี่ปุ่นขึ้นรถรางแออัดมากขึ้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กับ ม.ร.ว.บุษบาและจางวางหรือผู้ติดตามก็จะเดินไปโรงเรียน เพราะคุณแม่บอกว่าเท่ากับเป็นการออกกำลังกายไปในตัว การเดินจะไม่เดินเปล่า   ถ้าวันไหนเป็นวันโรงเรียนหยุดจะเปิดสอนเฉพาะเปียโน และบางวันก็จะมีการจำเบอร์รถรางคันที่ออกเดินทางพร้อมกัน โดยจะออกเดินทางแข่งกับรถราง และจะเดินอย่างเร็วจนชนะรถรางเมื่อถึงที่หมายคือปากทางเข้าโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ เพราะรถรางจะมัวรอหลีก และคนขับจะนั่งถอนหนวด ด้วยการเอาเหรียญสตางค์สองอันหนีบหนวดแล้วดึง . . .”  (จากหนังสือ เป็น อยู่ คือ)

ปีสุดท้าย...ในเซนต์ฟรังฯ

          พุทธศักราช 2489 (1946) อันเป็นปีที่ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ศึกษาในชั้นมัธยมปีที่ 3 มีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนที่จะต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ได้เล่าให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนฟังอย่างสนุกสนานระคนความไม่เชื่อว่า วันหนึ่งมีหมอดูเดินเข้าไปในวังเทเวศน์ และพยากรณ์ดวงชะตาของพระองค์ท่านว่า ในอนาคตจะได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูล และวันหนึ่งจะได้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นถึง “พระราชินี” บรรดาเพื่อนๆนักเรียนที่สนิทชิดชอบ ที่ห้อมล้อมฟังอยู่ต่างพากันชอบอกชอบใจ บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ โดยเห็นเป็นเรื่องหมอดูคู่กับหมอเดา อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆ ต่างพากันสถาปนาด้วยอารมณ์ของเด็กๆ โดยขานนามท่านว่า “ราชินีสิริกิติ์”
q14
q13
          ในปีพุทธศักราช 2492 เมื่อมีข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกาศหมั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์   กิติยากร อาจารย์ที่เคยได้ฟังนักเรียนพูดกันถึงเรื่อง“ราชินีสิริกิติ์” ถึงกับตกตะลึงและรำลึกถึงความหลังในครั้งนั้น ได้พูดกับนักเรียนที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นของ ม.ร.ว.สิริกิติ์ว่า “เห็นไหมล่ะ ที่พวกเธอพูดกันเล่นๆ อย่างคะนองปากและสนุกสนานนั้น บัดนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว”

พระราชจริยวัตรที่งดงาม

แม้ทรงเป็นพระบรมราชินีที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในโลก  แต่ด้วยทรงมีพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์งามเลิศ  และมีน้ำพระราชหฤทัยอันสุดประเสริฐ  ทำให้ความจงรักภักดีที่พสกนิกรมีต่อสมเด็จพระราชินีทวีมากขึ้น และยกย่องให้พระองค์ท่านเป็นแบบอย่างของ “กุลสตรีไทยที่สง่างาม”
           พระราชจริยวัตรส่วนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความสง่าผ่าเผย และการสำรวมพระองค์ในพระราชพิธีต่าง ๆ ในขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศโดยเสด็จพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางฯ  พระบรมราชินีนาถ จะทรงได้รับการสดุดีจากทุกประเทศด้วยคำถวายพระเกียรติอย่างจริงใจ และศรัทธาว่า พระองค์ทรงมีพระบุคลิกภาพ และพระราชจริยวัตรอันงดงามยิ่ง ทรงเป็นพระราชินีสิริโสภาที่สุดในโลก  และทรงได้รับเลือกจากผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลกจำนวน 2,000  คน ให้ทรงเป็นสตรีที่แต่งองค์งดงามที่สุดในโลกผู้หนึ่ง ในปีพุทธศักราช 2503 และ 2505 เพราะฉลองพระองค์ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมไทยเงางามที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับการแต่งกายของชาวตะวันตกได้อย่างแนบเนียน 
           ในการทรงงาน พระองค์ท่านทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ  มุ่งมั่น ที่จะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์โดยมิได้ทรงย่อท้อ  ทรงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 12  สิงหาคม  2522  ความตอนหนึ่งว่า “ทรงสั่งสอนข้าพเจ้าและลูก ๆ ว่า เมื่อคนเขายกย่องนับถือให้เป็นประมุขมากเท่าไร ก็ต้องรู้สึกว่าเราต้องทำงานให้หนักกว่าทุกคน  ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ . . .”  รวมทั้งทรงระลึกถึงครูโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ดังเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2535 ทรงกล่าวถึงการดูแลนักเรียนของซิสเตอร์โรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ความตอนหนึ่งว่า “…..เมื่อตอนเป็นเด็กที่เติบโตมาได้ ก็เพราะซิสเตอร์คาทอลิก ก็ไปเรียนที่บ้านญวน เห็นซิสเตอร์ก็ได้ให้ความรัก ความอบอุ่นอย่างแม่กับลูกไม่มีผิด….” และกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550 ที่ทรงเล่าถึงการสอนของครูความตอนหนึ่งว่า  “. . . เมื่อครั้งข้าพเจ้ากลับมาอยู่ชั้นประถมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังฯ แม่ชีที่เซนต์ฟรังฯ ถึงแม้ว่าจะเป็นคริสต์ ร้องเพลงชักจูงให้เด็กๆ รักธรรมชาติ รักความสะอาด สิ่งแวดล้อม และก็รักประเทศไทย เพราะว่าประเทศไทยเรางดงาม ครามครัน คือนาไร่อุดมสมบูรณ์ เขาเขียวเรียงราย น้ำไหลชุ่มชื่น อันนี้ข้าพเจ้าจำตั้งแต่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ ตั้งแต่อายุน้อยๆ ได้ยินแล้วซึ้งใจ ยิ่งตอนแก่นี้ซึ้ง แหมโรงเรียนฝรั่งนี้เค้ามาเปิดโรงเรียนแต่เค้าสอนให้เด็กนักเรียนไทยรักบ้านรักเมือง  ให้รู้อะไรที่มีคุณค่า เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้อะไรต่างๆ เกี่ยวกับไร่นา ข้าวปลา มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ให้หลับตานึกถึงบุญคุณของประเทศ ข้าพเจ้านึกถึงบุญคุณของโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ซึ่งเป็นคาทอลิก แต่เนี้ยะน้ำใจของเขา” เป็นต้น

น้ำพระราชหฤทัยอันสุดประเสริฐ

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นผู้มีน้ำพระราชหฤทัยอันสุดประเสริฐ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อาทิ เมื่อครั้งยังเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ท่านมักจะชวนเพื่อนๆ ไปเล่นที่วัง ขึ้นต้นมะม่วง เก็บมะม่วง วันหนึ่งท่านทำสิ่งที่ถูกใจท่านผู้หญิงมณีรัตน์ และได้สตางค์มา พอมาโรงเรียนก็ชวนเพื่อนๆ ว่า “วันนี้เรามาซื้ออะไรรับประทานกันเถอะ ได้สตางค์มาเลี้ยงเพื่อน” เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแนะนำครูสมใจ กับผู้ติดตามเสด็จว่า “นี่เป็นครูสอนที่เซนต์ฟรังฯ ตอนเล็ก ๆ ฉันซนมาก ครูต้องเอาเชือกผูกขาไว้กับโต๊ะ ไม่เช่นนั้นฉันจะวิ่งรอบห้องเลย” และพระองค์ทรงรับครูและซิสเตอร์ทุกคนที่เคยถวายการสอนพระองค์เข้าอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ทั้งหมด อาทิ เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่าซิสเตอร์แอสแตล ซึ่งเคยถวายการสอนท่าน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ต้องตัดขา ก็ทรงรับไว้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ให้ข้าหลวงในวังไปเยี่ยมเสมอ และพระราชทานเงินให้เดือนละ 5,000 บาท และเมื่อซิสเตอร์ เรอเนชราภาพ พระองค์ท่านได้พระราชทานเงินให้เดือนละ 5,000 บาทเช่นกัน
q18
            คุณครูสมใจ (เจนผาสุข) ชมไพศาล อดีตครูประจำชั้น ป.2 และ ป.4 ได้กล่าวอย่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณว่า “สำหรับตัวข้าพเจ้าเองได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ในปีพุทธศักราช 2508 บ้านข้าพเจ้าถูกไฟไหม้ก็ได้รับพระเมตตาช่วยเหลือ ปีพุทธศักราช 2536 ทรงพระเมตตาให้ข้าพเจ้าได้รับการรักษาผ่าตัดต้อกระจกทั้งสองข้าง  ปีพุทธศักราช 2545 ทรงพระราชทานดอกไม้วันครบรอบวันเกิด 80 ปีของข้าพเจ้า และทรงโปรดเกล้าให้ข้าพเจ้าเป็นคนไข้ในพระบรมราชูปภัมภ์…”  (สมใจ ชมไพศาล)
                “สิ่งหนึ่งที่ชาวเซนต์ฟรังฯ รุ่นพระสหายซาบซึ้งกันดีก็คือ น้ำพระทัยเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนๆ ทุกคน ทรงถามทุกข์สุขเพื่อนตลอด มีเพื่อนคนหนี่งเข้าเฝ้า ดูหน้าตาเขาซีด ๆ ท่านก็รับสั่งถามว่าเป็นอะไร เมื่อทรงทราบว่าไม่สบาย วันต่อมาทรงให้ท่านผู้หญิงกรัณฑ์ สนิทวงศ์มาติดต่อดิฉัน ถามว่า บ้านเขาอยู่ที่ไหน แล้วท่านก็เลยเลี้ยงดู ให้เงินเดือนเขามาจนทุกวันนี้” หรือ ทรงบันทึกเทปธรรมะด้วยพระสุรเสียงของพระองค์ท่านพระราชทานแก่พระสหาย (คุณบรรจง) ซึ่งล้มป่วย ซึ่งเธอได้เปิดฟังอยู่ข้างหมอจนวาระสุดท้าย อย่างดิฉันป่วยท่านก็พระราชทาน เวลามีอะไร ท่านก็รับสั่งให้รายงาน
ท่านห่วงเพื่อนฝูง อย่างเพื่อนคนหนึ่งมีปัญหา ท่านก็พระราชทานเงิน หรือไฟไหม้บ้านท่านก็พระราชทานเงินให้ปลูกบ้าน ไม่เคยมีใครไปขอท่านเลย ท่านมีน้ำใจด้วยพระองค์เอง  เวลาที่คุณท่าน (ม.ล.บัว กิติยากร) ไม่สบาย ก็ไปเฝ้าท่านที่โรงพยาบาลศิริราชไปอยู่เป็นเพื่อนกันหลายคน…ท่านมีรับสั่งว่า ปรียาบ้านอยู่ที่ไหน…มีใครมารับหรือเปล่า…กลับกับใคร…สามประโยคนี้เป็นที่ปลาบปลื้มใจที่สุด คือท่านมีความห่วงใย…   [ปรียา (ไตลังคะ) กลิ่นช้อย]
                   สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถทรงเป็นพระบรมราชินีนาถที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดทำให้พระองค์ทรงทราบถึงความลำบากในการดำรงชีวิตของชาวชนบททำให้พระองค์ท่านทรงห่วงใยและมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ที่อยู่ในชนบทให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  มีอาชีพ  มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ ดังนั้นในปีพุทธศักราช 2521  สมเด็จพระนางเจ้าฯจึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างอาคารศูนย์ศิลปาชีพขึ้นภายในเขตพระราชฐานสวนจิตรลดา เพื่อเป็นศูนย์การเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่าง ๆ  และยังทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงฝึกขึ้นในเขตพระราชฐานทุกแห่งที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ และมีการขยายโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดาในเวลาต่อมา  ทุกครั้งที่พระองค์ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่ใดจะทรงตรวจงานของสมาชิกศิลปาชีพอยู่กับที่นานนับชั่วโมง ทรงทุ่มเททั้งพระวรกาย  พระสติปัญญา และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูงานฝีมือพื้นบ้าน งานหัตถกรรมในครัวเรือนของแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ประจำภาค  จนทำให้เป็นงานศิลปาชีพอันล้ำค่าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยได้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศทั่วโลก
                   คณะเซอร์ และครู โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนำ  พระราชจริยวัตรที่งดงาม  และน้ำพระราชหฤทัยอันสุดประเสริฐของพระองค์ท่านมาเป็นแบบอย่างในการสร้าง  อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนเซนต์ฟรังฯทุกคน คือเป็น “สตรีที่สง่างาม” (Gracious Lady) อันประกอบด้วย มารยาทดี มีเมตตากรุณา ตามแบบอย่างของพระองค์ท่าน

ศิษย์เกียรติยศ

ระยะเวลา 6 ปีที่ทรงศึกษา ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ แม้จะเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ความทรงจำนั้นยาวนาน เพราะทรงระลึกถึงโรงเรียน คณะเซอร์ คุณครูและพระสหายมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ นั้นทรงผูกพันและกล่าวถึงอยู่เนืองๆ นอกจากนี้ยังทรงได้กลับมาเยี่ยมโรงเรียนในวาระต่างๆ ถึง 4 ครั้งดังนี้
1.  วันที่ 18 เมษายน 2493 ในฐานะพระคู่หมั้นได้รับเชิญมางานเลี้ยงต้อนรับ ที่คณะเซอร์และศิษย์เก่าจัดถวาย
2. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2516 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกหอประชุม “มิตราคม” และทรงเจิมป้ายห้องสมาคมศิษย์เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ และได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับสมาคมศิษย์เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในวันที่ 15 มีนาคม 2518
3. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2518 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานฉลอง 50  ปีโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์
4. วันที่ 31 กรกฎาคม 2522 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียน “อุดมวิทย์”
พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีต่อคณะเซอร์ คุณครู และนักเรียน ตลอดจนพระเกียรติคุณที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไทยและนานาประเทศทั่วโลก นำมาซึ่งความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจของชาวเซนต์ฟรังฯ ทุกคน  คณะเซอร์ ครู และนักเรียนโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ขอเทิดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าในฐานะทรงเป็น “ศิษย์เกียรติยศ” ผู้ทรงเป็นปิ่นนารีศรีเซนต์ฟรังฯ ตลอดไป
Scroll to Top