ประวัตินักบุญฟรังซิสเซเวียร์

แม่แบบแห่งคุณธรรมของชาวเซนต์ฟรังฯ
ฟรังซีส ซาเวียร์ ถือกำเนิดในตระกูลชั้นสูงผู้มั่งคั่งชาวบาสก์ ในอาณาจักรนาวาร์ทางตอนเหนือของประเทศสเปน เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1506 โดยพื้นธรรมชาติของสายเลือดเผ่าพันธุ์บาสก์ท่านมีความหยิ่งทะนงและมีความรู้สึกรุนแรง ในวัยเด็กท่านมีความทะเยอทะยานอยางยิ่งและชื่นชอบการเล่นกีฬา แต่สิ่งสำคัญคือลักษณะพิเศษสุดที่ท่านมีในเรื่องความเมตตาปรานี และความรู้สึกเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์อีกทั้งความอดกลั้นอดทน
ในปี ค.ศ. 1524 ขณะมีอายุได้สิบแปดปี ฟรังซิส ซาเวียร์ ได้เข้าศึกษาวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยปารีส จากนั้นได้ศึกษาขั้นมหาบัณฑิตด้านอักษรศาสตร์ เมื่อศึกษาจบ ท่านก็สอนวิชาปรัชญาที่โบเวส์คอลเลจ ในช่วงเวลานั้นเอง ท่านได้พบอิกเนชีอุสโลโยลา ฟรังซิส ซาเวียร์ พร้อมกับผู้เคร่งศาสนาอีกห้าคนได้ร่วมกันก่อนตั้งคณะนักบวชเยซูอิต  คือแผนการต้องเปลี่ยนไปเพราะพระเจ้าจอห์นแห่งประเทศโปรตุเกสในขณะนั้น ได้มีรับสั่งขอให้พระสงค์ไปทำการเผยแพร่ศาสนาโรมันคาทอลิกในประเทศอินเดีย  อิกเนชีอุสตัดสินใจเลือกฟรังซิส ซาเวียร์ให้รับภารกิจนี้
ทั้งๆที่ฟรังซีสไม่ได้มีคุณสมบัติิเหมาะกับงานนี้แต่ประการใด แม้ว่าจะศึกษาได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย  แต่ท่านก็ไม่ได้เรียนรู้สิ่งใดลึกซึ้งนัก ตำราศาสนาที่ท่านใช้ติดตัวเป็นประจำเป็นเพียงบทสวดมนต์เล่มเล็กๆ  นอกจากนี้ท่านไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับศาสนาที่ผู้คนเขานับถือกัน  ท่านมองเห็นว่าผู้ที่ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนาคือศัตรูของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นทาสของปิศาจร้าย ท่านจำต้องช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นด้วยพลังอำนาจทั้งปวงที่ท่านจะสามารถทำได้ และที่สำคัญก็คือท่านไม่ได้แยแสกับกลุ่มนักบวช  ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือพราหมณ์ หรือกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ
ในภาพรวมจึงกล่าวได้ว่าในเบื้องต้นของชีวิต ฟรังซิสไม่ได้รู้อะไรมากนัก  ท่านมองเห็นว่า  โลกใหม่ที่ท่านต้องออกไปเผชิญช่างกว้างใหญ่ไพศาล และท่านมีหน้าที่อีกทั้งความปรารถนาเพียงหนึ่งเดียวที่จะออกไปปราบศัตรูให้พระเจ้าท่านดำเนินสู่โลกใบนั้นแบบที่เรียกว่า ไม่มีอะไรติดตัวเลยนอกจากความรักอันแน่วแน่มั่นคงที่มีต่อพระเยซูคริสต์  อีกทั้งความมุ่งมั่นที่จะใช้อำนาจของชาติโปรตุเกสเพื่อประโยชน์แห่งคริสต์ศาสนา
ด้วยกำลังใจที่แน่วแน่ฟรังซิส   ซาเวียร์ยอมสละความสุขทางโลกทั้งมวล  ท่านเลือกที่จะดำรงชีวิตอย่างแร้นแค้นที่สุด และปฏิเสธความสะดวกสบายทุกสิ่งที่มีผู้เสนอให้  ท่านรับประทานอาหารเพียงน้อยนิดจนเป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ท่านสามารถมีชีวิตอยู่ได้  และเมื่อจะต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายในภูมิภาคของโลกที่ร้อนระอุ  ท่านขอสิ่งจำเป็นอย่างเดียวคือรองเท้าบู๊ตคู่หนึ่ง  ในขณะเดินทางบนเรือนั้น(ท่านออกเดินทางจากเมืองท่าลิสบอนในโปรตุเกสเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1541 ขณะมีอายุได้ 36 ปี
พร้อมด้วยเพื่อนร่วมเดินทางอีก 2 คน) ท่านก็สามารถอดทนต่อความยากลำบากทั้งมวลที่รวมทั้งอากาศไม่ว่าจะร้อนจัดหรือหนาวจัด เรื่องราวการเดินทางของฟรังซิส   ซาเวียร์เปรียบได้ดั่งมหากาพย์แห่งงานวรรณกรรม  ท่านเดินทางถึงเมืองกัวในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1542  หลังจากใช้เวลาทั้งหมด 13 เดือนจากลิสบอน ผ่านน่านน้ำท้องทะเลอันเวิ้งว้างหลายแห่ง  ท่านใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเผยแพร่ศาสนาให้ผู้คนชาวอินเดียในเมืองกัวด้วยการไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล เยี่ยมนักโทษในเรือนจำและอบรมผูเยาว์ให้มีใจเมตตาปรานี มีเรื่องเล่าว่าในตอนเช้าหลังจากไปช่วยเหลือผู้ป่วยและนักโทษแล้ว  ท่านก็จะเดินไปตามท้องถนนในเมืองพร้อมกับสั่นกระดิ่งในมือ เชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองให้ส่งพวกลูกหลานและพวกทาสไปรับฟังคำสั่งสอน ผลที่ได้ก็คือ เด็กๆเริ่มมีจิตใจอ่อนโยน  รู้จักทำความดีและพวกผู้ใหญ่ก็จะมีความรู้สึกละอายต่อการทำบาป  ผู้คนในเมืองกัวทุกกลุ่มเริ่มมีคุณภาพชีวิตที่งดงามขึ้นเพราะการอุทิศตนของฟรังซีส ซาเวียร์ผู้มีจริยาวัตรและถ้อยวจนะอันเปี่ยมล้นด้วยความปรานี
ในช่วงค.ศ.1545-1547  ฟรังซิส   ซาเวียร์ ทำการเทศนาสั่งสอนผู้คนในอาณานิคมมาละกาของโปรตุเกสและบริเวณแหลมมาลายู เมื่อมีโอกาสคุ้นเคยกับชาวญี่ปุ่นชื่ออันจิโร (ต่อมาภายหลังได้รับศีลล้างบาปและได้รับชื่อปอล)ท่านจึงประสงค์ จะเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ศาสนาในประเทศญี่ปุ่น  จากนั้นพร้อมด้วยสงฆ์เยซูอิตรูปหนึ่งและชาวญี่ปุ่นซึ่งนับถือศาสนาคริสต์อีก 3 คน  ท่านก็ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นทำการสอนศาสนาตามจิตที่มุ่งหวัง  นับได้ว่าฟรังซิส   ซาเวียร์คือสงฆ์องค์แรกในญี่ปุ่นและสามารถทำให้ผู้คนจำนวนประมาณ 2,000 คน ยอมรับนับถือคริสต์ศาสนา อีกไม่นานนัก ฟรังซิส  ซาเวียร์ก็มุ่งมั่นที่จะเดินทางไปประเทศจีน   ซึ่งในขณะนั้นปิดประเทศไม่ยอมรับคนต่างชาติ  ความประสงค์อันเร่าร้อนทำให้ท่านกล้าติดสินบนกัปตันเรือผู้หนึ่งให้แอบลักลอบนำท่านเข้าประเทศจีน แต่โชคร้ายย่างใกล้เข้ามา พวกโปรตุเกสที่เกาะสานเจี้ยนที่ท่านไปพักอยู่ขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับแผนการและฟรังซิสเองก็ล้มป่วยลง กระนั้นท่านก็ยังไม่สูญสิ้นความตั้งใจ  ในยามนั้นท่านได้รับทราบข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม(คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้ทรงครองกรุงศรีอยุธยาระหว่างค.ศ.1548-1568) กำลังเตรียมส่งคณะทูตไปเจริญสันถวไมตรีกับจักรพรรดิจีน  ท่านจึงพยายามอย่างที่สุดเพื่อให้รัฐบาลโปรตุเกสยินยอมให้ท่านได้ร่วมขบวนกับเอกอัครราชทูตแห่งสยามไปประเทศจีน แต่แล้วด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ฟรังซิส   ซาเวียร์ กลับล้มเจ็บลงอีก  เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1552 และกลับคืนสู่อ้อมพระหัตถ์แห่งพระเจ้าในวันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม ปีนั้นเอง ขณะเปล่งวาจาสุดท้ายว่า “In thee,O Lord,I have hoped;I shall not to be confounded forever. ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ลูกมีความเชื่อมั่นในพระองค์ตลอดมา ลูกจะไม่มีวันสับสนชั่วนิรันดร์”ร่างของท่านถูกนำกลับสู่ดินแดนกัว และได้รับการฝังไว้ ณ ที่นั้นท่ามกลางความรักของผู้คนที่ตระหนักในดวงจิตว่าท่านคือนักบุญ  ต่อมาในปีค.ศ.1619 พระสันตะปาปาปอลที่ 5 (ค.ศ.1552-1621) ทรงเป็นผู้ประกอบพิธีประสาทพรเตรียมเฉลิมฉลองการยกย่องให้เป็นนักบุญในฐานะองค์อุปถัมภ์ภารกิจทั้งมวลของคริสต์ศาสนาลัทธิโรมันคาทอลิก นักบุญฟรังซิส   ซาเวียร์ คือแม่แบบแห่งคุณธรรมทั้งปวงที่พวกเราชาวเซนต์ฟรังฯพร้อมที่
 
จะดำเนินชีวิตตามทั้งในด้านความประหยัด ความถ่อมตน ความกล้าหาญ ความเสียสละเพื่อส่วนรวม  ความเมตตาปรานีต่อเพื่อนมนุษย์ รวมทั้งการน้อมรับพระธรรมวจนะแห่งพระเจ้าเพื่อเป็นมงคลนำชีวิต
Scroll to Top